นิรโทษกรรมภาษีย้อนหลัง

นิรโทษกรรมภาษีย้อนหลัง

ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการ ในการที่จะเริ่มตั้งต้นในการนำกิจการเข้าสู่ระบบความมีมาตรฐานของการจัดทำบัญชี ไม่ต้องทำบัญชีสองชุดและต้องคอยระวังส่ิ่งที่ได้ทำไว้ไม่ถูกต้อง และเมื่อสรรพากรเข้าตรวจสอบ ก็ไม่เห็นมีใครรอดสักรายแถมเสียเงินมากกว่าทำในสิ่งที่ถูกต้องเสียอีก ใหนจะต้องเสียภาษี เสียดอกเบี้ย(เงินเพิ่ม) แถมโดนค่าปรับอีก เบ็ดเสร็จแล้วมากกว่า ท้ายสุดบางรายก็ยอมปิดกิจการไปแถมมีคดีฟ้องร้องไม่จบ

และเมื่อกิจการทำบัญชีเล่มเดียว ต่อไปนี้ผู้ทำบัญชีที่จัดทำบัญชีไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี รวมถึงผู้สอบบัญชีที่ลงลายมือชื่อโดยไม่มีการจัดทำกระดาษทำการที่สมบูรณ์จะได้หมดไป เมืองไทยจะได้งบการเงินที่มีความน่าเชื่อถือ และรัฐจัดเก็บภาษีได้เต็มที่

สำหรับรายละเอียดของพระราชกำหนดมีรายละเอีียดดังนี้

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2558 โดยมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา

พร้อมระบุหมายเหตุเพิ่มเติมว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่มีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อยกเว้น และสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร เพื่อให้ระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้สำหรับบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

และเป็นการสนับสนุนให้มีการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของกิจการซึ่งหากไม่ดำเนินการโดยเร่งด่วนจะส่งผลให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีอันจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศประกอบกับเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรที่ต้องพิจารณาโดยด่วนและลับ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

สำหรับเนื้อความในพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรพ.ศ.2558 ทั้ง 9 มาตรา มีดังนี้

มาตรา 1 พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558”

มาตรา 2 พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2559 เป็นต้นไป

มาตรา 3 ในพระราชกำหนดนี้ “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิ

“ภาษีอากร” หมายความว่า ภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 และอากรแสตมป์ตามหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร
มาตรา 4 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา และมีกำหนดครบ 12 เดือน โดยวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2558 ได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญา ตามประมวลรัษฎากร

สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2559 หรือมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2559 ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่กรณีดังต่อไปนี้
(1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอยู่ระหว่างการตรวจสอบภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรโดยมีหมายเรียกที่ออกก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ

(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 88/3 แห่งประมวลรัษฎากรที่ดำเนินการก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ

(3) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีปลอมหรือเป็นผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอมหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกระทำการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรโดยแสดงรายจ่ายอันเป็นเท็จต่อกรมสรรพากร

(4) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวนชั้นพนักงานอัยการหรือชั้นศาล
“รายได้” ตามวรรคหนึ่งหมายความว่า รายได้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการซึ่งคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร การได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งจะต้องปรากฏด้วยว่าเจ้าพนักงานประเมินยังไม่ได้เริ่มดำเนินการประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรหรือยังไม่ได้ดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับภาษีอากรนั้นๆ

มาตรา 5 ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 4 ยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ที่เกี่ยวกับรายได้ มูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่ได้รับยกเว้น เพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากร ให้เจ้าพนักงานประเมินซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับภาษีอากรมีอำนาจทำการตรวจสอบภาษีอากรที่ขอคืนหรือออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีอากรที่ขอคืนไต่สวนประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรทั้งนี้ ตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้แล้วแต่กรณี

มาตรา 6 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับการยกเว้นตามมาตรา4ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ทำการจดแจ้งต่อกรมสรรพากร ว่าเป็นผู้ได้รับยกเว้นตามพระราชกำหนดนี้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และภายในเวลาที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

(2) ยื่นรายการในการคำนวณภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล พร้อมชำระภาษี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาในการยื่นรายการ ในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2559 เป็นต้นไป

(3) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะ แล้วแต่กรณี ในกรณีบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องยื่นตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ พร้อมชำระภาษี ถ้ามี ทั้งนี้ สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการที่ต้องกระทำในเดือนมกราคม พ.ศ.2559 เป็นต้นไป

(4) ยื่นแบบขอเสียอากรเป็นตัวเงิน สำหรับตราสารที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ชำระอากร เป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร และต้องชำระเงินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2559 เป็นต้นไป

(5) มีการจัดทำ บัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2559 เป็นต้นไป

(6) ไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากรนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ
มาตรา 7 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 6 ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีคำสั่งเพิกถอนการได้รับยกเว้นตามมาตรา 4 ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เมื่อมีการเพิกถอนการได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ไม่เคยได้รับยกเว้นการใดๆ ตามพระราชกำหนดนี้ และให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจในการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และดำเนินความผิดอาญาเกี่ยวกับรายได้ มูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารตามที่กำหนดในมาตรา4 ทั้งนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร

มาตรา 8 เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร ให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการที่จำเป็น เพื่อให้สถาบันการเงินที่อยู่ในกำกับดูแล ใช้บัญชีและงบการเงินที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแสดงต่อกรมสรรพากรในการยื่นรายการภาษีเงินได้เป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมทางการเงินและการขออนุมัติสินเชื่อกับสถาบันการเงินทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2562 เป็นต้นไป

มาตรา 9 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกำหนดนี้

FacebookTwitterGoogle+LineEmailShare

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *